วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (22 กรกฎาคม 2556 )

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง


โดยมากแล้ว  ศิลาจารึกนั้นให้ความรู้ในด้านภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์  แต่ถ้าพิจารณาส่วนเนื้อหาสาระ  ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์  ที่แสดงวัฒนธรรมของชนชาติ
        
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ  เมื่อทรงผนวช  ทรงได้พบศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑  ซึ่งจารึกด้วยลายสือไทย  ณ ตำบลเมืองเก่า  อำเภอเมืองสุโขทัย  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖  จากนั้นก็ได้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของศิลาจารึกอีกหลายหลัก  ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสุโขทัย
        
ศิลาจารึกที่สลักขึ้นในสมัยสุโขทัย  ที่มีการชำระและแปลแล้ว  นำมาพิมพ์รวบรวมไว้ในประชุมจารึกสยาม ภาคที่ ๑  เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๗  มีจำนวน ๑๕ หลัก  จากนั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติมและจัดพิมพ์เผยแพร่  โดยมีหอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยหลัก  เฉพาะที่เป็นจารึกสมัยสุโขทัย  ได้รวบรวมจัดพิมพ์อีกในหนังสือจารึกสมัยสุโขทัย  โดยกรมศิลปากร  เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย  เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
        
จารึกสุโขทัยจัดตามลักษณะตัวอักษรได้เป็น ๕ กลุ่ม คือ
        -
จารึกที่ใช้อักษรไทยสุโขทัย
        -
จารึกที่ใช้อักษรขอมสุโขทัย
        -
จารึกที่ใช้อักษรไทยขึ้นต้นและต่อด้วยอักษรขอมสุโขทัย
        -
จารึกที่ใช้อักษรขอมขึ้นต้นและต่อด้วยอักษรไทยสุโขทัย
        -
จารึกที่ใช้อักษรไทยสุโขทัยขึ้นต้นและต่อด้วยอักษรธรรมล้านนา  จารึกสุโขทัยที่ค้นพบและอ่านแล้วมีไม่น้อยกว่า ๑๐๐ หลัก  ที่สำคัญ มีดังนี้
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ทำจากหินทรายแป้ง  เป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่าทรงกระโจม หรือทรงยอ  กว้างด้านละ ๓๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๑ เซนติเมตร  จารึกอักษรไทยสุโขทัย  จารึกเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๕  เรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า จารึกหลักที่ ๑  ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครั้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อทรงผนวช  ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้พร้อมพระแท่นมนังคศิลาบาตร ณ โคกปราสาทร้าง  โปรดฯให้นำเข้ากรุงเทพฯ  ในขั้นแรกเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส  ต่อมาเมื่อทรงย้ายไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร  จึงโปรดฯให้ย้ายไปด้วย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านศิลาจารึกนี้เป็นพระองค์แรก  และหอสมุดวชิรญาณได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗
สาระสำคัญ  มีการบอกเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงด้วยพระองค์เอง  ความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น  ในจารึกให้ข้อมูลว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นในปีมหาศักราช ๑๒๐๕ (พ.ศ.๑๘๒๖)  ต่อมาปีมหาศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๑๘๓๕) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ช่างนำหินทรายแป้งมาทำพระแท่นมนังคศิลาบาตร  เพื่อให้พระเถระแสดงธรรมและเป็นที่ประทับว่าราชการและตัดสินคดีความ  ทรงแขวนกระดิ่งไว้สำหรับร้องทุกข์  ด้านการพระพุทธศาสนา  ทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชมาร่วมกับฝ่ายเถรวาทเดิม  ให้มาสั่งสอนอบรมชาวสุโขทัย  ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง  มีงานเผาเทียนเล่นไฟ  อันเป็นที่มาของงานประเพณีลอยกระทง  ด้านการปกครอง  สุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวาง  ทิศตะวันออกตั้งแต่สองแคว (พิษณุโลก) ไปถึงเวียงจันทน์  ทิศใต้ตั้งแต่สุพรรณบุรี ราชบุรี เลยนครศรีธรรมราช ไปสุดแผ่นดินจดทะเลมหาสมุทร  ทิศตะวันตกเลยเมืองฉอดไปถึงหงสาวดี  มีมหาสมุทรเป็นแดน  ทิศเหนือถึงแพร่ น่าน ข้ามฝั่งโขงไปถึงหลวงพระบาง
ศิลาจารึกวัดศรีชุม เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๒  ทำด้วยหินดินดาน  เป็นรูปใบเสมา  กว้าง ๖๗ เซนติเมตร สูง ๒๗๕ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร  จารึกอักษรไทยสุโขทัยทั้ง ๒ ด้าน  ประมาณ พ.ศ.๑๘๘๐-๑๙๑๐  นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ  เมื่อครั้งเป็นหลวงสโมสรพลการ พบที่อุโมงค์วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐  ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
    
สาระสำคัญ  เป็นการเล่าเรื่องก่อนที่จะเกิดอาณาจักรสุโขทัย สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี  ท่านเกิดในนครสองแคว (พิษณุโลก) เป็นโอรสพระยาคำแหงมหาราช หลานปู่พ่อขุนนาวนำถุม (พระยาศรีนาวนำถุม) ซึ่งเสวยราชย์ในนครสุโขไทและสรีเสชนาไล (ศรีสัชนาลัย)  ทรงตั้งขุนยี่ (อุปราช) ปกครอง  โอรสองค์โตชื่อ ขุนผาเมือง ปกครองเมืองราด เมืองลุม  เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่แปด  และทรงดำรงตำแหน่งยุวราชแห่งศรีโสธรปุระด้วย  โอรสอีกองค์ชื่อ พระยาคำแหงพระราม (พระบิดา) ครองนครสองแคว  เมื่อสิ้นพ่อขุนนาวนำถุมแล้ว  ขอมสบาดโขลนลำพงยึดอำนาจ  พ่อขุนบางกลางหาวจึงขึ้นไปเมืองบางยางเพื่อรวมพลกับพ่อขุนผาเมือง  พ่อขุนผาเมืองยึดสุโขทัยกลับคืนได้และได้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครอง
    
สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ได้เสด็จไปลังกาทวีป  เมื่อกลับมาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิมาประดิษฐานที่นครสุโขทัย บางฉลัง ศรีสัชนาลัย
    
ศิลาจารึกนครชุม เรียกว่า จารึกหลักที่ ๓  ทำด้วยหินทรายแป้ง  เป็นรูปใบเสมา กว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๙๓ เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร  จารึกอักษรไทยสุโขทัย  สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบที่วัดบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔  ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
    
สาระสำคัญ  เบื้องต้นบอกให้ทราบว่าพระยาลือไทย โอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชย์ที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย  ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐  ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิจากลังกาทวีปในปี พ.ศ.๑๙๐๐ จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม  พระมหาธรรมราชาลิไททรงเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะมีดำรงอยู่ได้ห้าพันปี จึงทรงจารึกข้อความเกี่ยวกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาไว้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น